‘Shoes Construction & Lining’ พื้นฐานสำคัญในการเลือกซื้อรองเท้าหนังคุณภาพสูง

เมื่อต้องซื้อรองเท้าหนัง สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญคือ ‘หนังที่ใช้’ โดยเลือกเฟ้นรองเท้าที่ใช้หนังคุณภาพดี แต่ลืมให้ความสำคัญในเรื่องของโครงสร้างรองเท้า (Shoes Construction) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความแข็งแรงทนทานของรองเท้า และเรื่องของซับใน (Lining) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อรูปทรงของรองเท้า รวมถึงส่งผลต่อความสบายในการสวมใส่อีกด้วย

โครงสร้างรองเท้า (Shoes Construction) คืออะไร?

         โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงโครงสร้างรองเท้าหรือ Shoes Construction นั้นจะหมายถึงวิธีการหรือรูปแบบในการประกอบสร้างรองเท้าหนึ่งคู่ขึ้นมา หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือวิธีการในการยึดส่วนบนของรองเท้าเข้ากับพื้นรองเท้านั่นเอง ซึ่งโครงสร้างรองเท้านั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ได้รับความนิยมและสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบันนั้นมีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน

  1. Cemented Construction

         โครงสร้างที่แบรนด์รองเท้าหลายๆ แบรนด์ในท้องตลาดเลือกใช้ โดยเฉพาะแบรนด์รองเท้าที่เน้นดีไซน์แบบแฟชั่น เพราะมีจุดเด่นที่สำคัญคือน้ำหนักเบาจึงไม่เป็นอุปสรรคในการเดิน ทำให้สวมใส่สบาย ไม่เมื่อยเท้า โครงสร้างรองเท้ารูปแบบนี้จะเป็นการใช้กาวคุณภาพสูงในการยึดส่วนบนของรองเท้าเข้ากับพื้นรองเท้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้รองเท้ามีน้ำหนักเบา

และเนื่องจากเป็นโครงสร้างที่แบรนด์รองเท้าส่วนใหญ่เลือกใช้ จึงทำให้มีดีไซน์ที่หลากหลาย ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกดีไซน์ที่ใช่เพื่อนำมาสไตลิ่งให้เข้ากับลุคที่แตกต่างกันออกไปได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตามโครงสร้างรองเท้ารูปแบบนี้มีข้อจำกัดคือพื้นรองเท้าที่มีความทนทานน้อยกว่า Goodyear-Welted Construction

  1. Blake-Stitched Construction

         หนึ่งในโครงสร้างของรองเท้าแบบเย็บ ที่เน้นวิธีการเย็บที่ง่าย รวดเร็ว และคุ้มค่าในด้านของต้นทุน ด้วยการเย็บพื้นรองเท้าเข้ากับส่วนบนของรองเท้าโดยตรง ทำให้พื้นรองเท้าแข็งแรงทนทานกว่า Cemented Construction ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นโครงสร้างที่มักนิยมใช้ในรองเท้าสำหรับฤดูร้อน

แต่โครงสร้างนี้ก็มาพร้อมกับข้อเสียสำคัญด้วยเช่นกัน เนื่องจากใช้การเย็บพื้นรองเท้าเข้ากับส่วนบนของรองเท้าโดยตรง ทำให้พื้นรองเท้าด้านในเกิดรูจากการเย็บ น้ำจึงสามารถซึมเข้ามาด้านในของรองเท้าได้ง่าย และในกรณีที่พื้นรองเท้าได้รับความเสียหายก็ซ่อมได้ยาก เนื่องจากต้องเย็บพื้นรองเท้าติดกับส่วนบนของรองเท้าใหม่อีกครั้ง แต่ยิ่งเย็บบ่อยครั้งมากขึ้นก็ยิ่งเป็นการทำให้พื้นรองเท้าสึกหรอจากรูที่เกิดขึ้น ดังนั้นส่วนใหญ่จึงไม่นิยมซ่อม แต่จะเลือกซื้อรองเท้าคู่ใหม่แทน

  1. Goodyear-Welted Construction

         โครงสร้างรองเท้าที่ใช้การเย็บเพื่อให้พื้นรองเท้ามีความแข็งแรงทนทาน โดยใช้ Welt (คิ้วรองเท้า) ร่วมกับวิธีการเย็บแบบ 2 ขั้นตอน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำซึมเข้าด้านในของรองเท้าผ่านรูจากเข็ม ซึ่ง Welt จะถูกเย็บเข้ากับส่วนบนของรองเท้าก่อนในการเย็บรอบแรก จากนั้นจึงเย็บ Welt เข้ากับพื้นรองเท้าในการเย็บรอบที่สอง ด้วยเทคนิคนี้ทำให้พื้นรองเท้าด้านในไม่เกิดรูจากเข็ม จึงหมดกังวลเรื่องน้ำซึม นอกจากนี้ยังเป็นโครงสร้างที่สามารถซ่อมแซมได้ง่ายเมื่อพื้นรองเท้าสึกหรอหรือหลุดออก เพราะสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นรองเท้าชิ้นใหม่ได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนบนของรองเท้าและพื้นรองเท้าด้านใน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยวัสดุหลายชิ้นที่เพิ่มขึ้นมา บวกกับกรรมวิธีที่ซับซ้อน ทำให้รองเท้ารูปแบบนี้มีพื้นรองเท้าที่หนากว่าโครงสร้างชนิดอื่น และมีน้ำหนักที่มากกว่า ซึ่งส่งผลต่อความยืดหยุ่นในการเดิน จึงเป็นโครงสร้างรองเท้าที่ไม่ซัพพอร์ตการเดินเท่าใดนัก

ซับใน (Lining) ของรองเท้าสำคัญอย่างไร?

         เรื่องที่กระเป๋าหรือสูทมีซับในนั้นเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้ว แต่เรื่องที่รองเท้าหนังเองก็มีซับในเช่นกัน เป็นเรื่องที่น้อยคนนักจะรู้ นอกจากผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการ Classic Menswear จริงๆ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลายคนไม่เข้าใจถึงความสำคัญของซับใน และเผลอละเลยไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

         ซับในคือชิ้นส่วนของหนังที่อยู่ภายในรองเท้า ทำหน้าที่ในการเสริมให้รองเท้ามีรูปทรงที่แข็งแรงและสวยงามขึ้น ช่วยให้รองเท้ามีความอยู่ทรง อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้หนังของรองเท้าต้องฉีกขาดจากการโดนเล็บข่วนหรือการแตกหักจากการพับงอด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่ารองเท้าหนังคุณภาพดีทุกคู่ในตลาดนั้นต้องมีซับในเท่านั้น เพราะหากใช้เกณฑ์นี้ในการจำแนกประเภทรองเท้า จะสามารถแบ่งรองเท้าหนังคุณภาพดีได้เป็น 2 ประเภท

  1. Lined Shoes

         ประเภทแรกคือ Lined Shoes หรือรองเท้าที่มีซับใน ซึ่งรองเท้าประเภทนี้จะขึ้นรูปทรงแข็งแรงและสวยงาม ส่วนบนของรองเท้าจะมีความอยู่ทรงสวย ไม่อ่อนยวบ ให้ภาพลักษณ์ที่หรูหราและเป็นทางการ แต่รองเท้าแบบมีซับในเองก็มาพร้อมความแข็งกระด้างที่ทำให้สวมใส่ไม่สบาย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสวมใส่ประมาณหนึ่งกว่าหนังส่วนบนของรองเท้าจะมีความยืดหยุ่น คลายตัว และปรับเข้ากับรูปเท้าจนสวมใส่สบายในที่สุด ซึ่งระยะเวลานี้คือ ‘Break-In Period’ (‘Break-In’ คือการทำให้หนังยืดหยุ่นและปรับเข้ากับรูปเท้า)

  1. Unlined Shoes

         อีกประเภทคือ Unlined Shoes หรือรองเท้าที่ไม่มีซับใน รองเท้าประเภทนี้จะอ่อนยวบยาบ ไม่อยู่ทรง เพราะไม่มีซับในทำหน้าที่คอยประคองหนังด้านนอกเอาไว้ แต่ก็มาพร้อมความสบายในการสวมใส่ตั้งแต่แรกโดยไม่ต้อง Break-In และถึงแม้จะไม่มีซับในแต่ก็ใช่ว่าจะขาดความหรูหราสวยงาม เพราะหนึ่งในรองเท้าที่ได้รับความนิยมนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันอย่าง ‘Belgian Loafer’ (ใส่ลิงก์บทความ ‘Belgian Loafer’ เพื่อเพิ่ม Engagement) ก็เป็นหนึ่งในรองเท้าที่ไม่มีซับใน ที่สำคัญยังเป็นรองเท้าที่สามารถสวมใส่ในระดับทางการได้อีกด้วย

จะเห็นว่าโครงสร้างรองเท้ายอดนิยมทั้ง 3 รูปแบบ รวมถึงรองเท้าที่มีและไม่มีซับในนั้น มีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันออกไป ซึ่งหมายความว่ารองเท้าแต่ละคู่ก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการแต่งตัว สนุกไปกับการสไตลิ่งลุคที่หลากหลาย Cemented Construction ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมทั้งในแง่ของดีไซน์และราคา ส่วนผู้ที่ชื่นชอบรองเท้าที่สวมใส่สบาย ให้ความเป็นทางการและในขณะเดียวกันก็ให้ภาพลักษณ์ของคอแฟชั่นด้วย รองเท้า Unlined Shoes อย่าง Belgian Loafer ดูจะตอบโจทย์มากที่สุด

Back to blog